วงจรการนอนหลับ



เมื่อความมืดมาเยือนเซลล์ที่จอภาพ[retina] จะส่งข้อมูลไปยังเซลล์ประสาทที่อยู่ใน hypothalamus ซึ่งจะเป็นที่สร้างสาร melatonin สาร melatonin สร้างจาก tryptophan ทำให้อุณหภูมิลดลงและเกิดอาการง่วง
วงจรการนอนหลับปกติของมนุษย์เราแบ่งได้เป็น 2 ช่วงคือ

1. ช่วงหลับธรรมดา ( NON-RAPID EYE MOVEMENT SLEEP หรือ NON-REM SLEEP ) : การนอนในช่วงนี้มีความสำคัญมาก เพราะมีส่วนสำคัญในการทำให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรง เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาการ และมีการหลั่งของฮอร์โมนที่เร่งการเติบโต growth hormone  เป็นช่วงการหลับที่จะลึกลงไปเรื่อยๆ แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ตั้งแต่หลับตื้นไปจนถึงหลับลึก


          ระยะที่ 1 (เริ่มมีความง่วง) : เป็นช่วงเริ่มหลับที่เปลี่ยน จากการตื่นไปสู่การนอน ในคนปรกติทั่วไปมักใช้เวลาตั้งแต่ 30 วินาที - 7 นาที  ระยะนี้ยังหลับไม่สนิทครึ่งหลับครึ่งตื่น ช่วงนี้อาจจะมีอาการกระตุกของกล้ามเนื้อที่เรียกว่า hypnic myoclonia มักจะตามหลังอาการเหมือนตกที่สูง ระยะนี้ตาจะเคลื่อนไหวช้า  เป็นสภาพที่แม้จะได้รับการกระตุ้นเพียงเล็กน้อยก็จะตื่น
          ระยะที่ 2 (หลับตื้น) : การหลับในช่วงต้น เป็นสภาพที่ไม่ได้ยินเสียงรบกวนจากภายนอก เป็นระยะแรกที่มีการหลับอย่างแท้จริง แต่ยังไม่มีการฝัน ระยะนี้ตาจะหยุดเคลื่อนไหวคลื่นไฟฟ้าสมองเป็นแบบ rapid waves เรียก sleep spindles
          ระยะที่ 3 (หลับปานกลาง) : ทั้งคลื่นสมองและชีพจรจะเต้นช้าลง ความมีสติรู้ตัวจะหายไป การเคลื่อนไหวของตาจะหยุดลง แม้ได้รับสิ่งเร้าจากภายนอกก็จะไม่ตื่นโดยง่าย ปรกติขั้นนี้จะกินเวลาประมาณ 20 - 30 นาที  คลื่นไฟฟ้าสมองจะมีลักษณะ delta waves
          ระยะที่ 4 (หลับลึก) : เป็นช่วงหลับสนิทที่สุดของการนอน กินเวลาประมาณ 30 - 50 นาที ถ้านอนหลับโดยปราศจากขั้นนี้ เราอาจมีการนอนละเมอหรือฝันร้ายได้ ช่วงระยะนี้อุณหภูมิร่างกายและความดันโลหิตจะลดลง อัตราการเต้นของหัวใจลดลงเหลือประมาณ 60 ครั้งต่อนาที โกรทฮอร์โมน (Growth hormone) จะมีการหลั่งในระยะนี้ ระยะนี้เป็นระยะที่หลับสนิทที่สุดคลื่นไฟฟ้าสมองเป็นแบบ delta waves ทั้งหมด
ระยะที่ 3-4 จะปลุกตื่นยากที่สุดตาจะไม่เคลื่อนไหวร่างกายจะไม่เคลื่อนไหว เมื่อปลุกตื่นจะงัวเงีย




2. ช่วงหลับฝัน (RAPID EYE MOVEMENT SLEEP หรือ REM SLEEP) : จะเกิดภายใน 90 นาที เป็นช่วงที่กล้ามเนื้อต่างๆ ของร่างกายแทบจะหยุดการทำงานกันหมด ยกเว้นระบบการทำงานที่ยังชีพได้แก่ หัวใจ กระบังลมเพื่อการหายใจ กล้ามเนื้อตา และกล้ามเนื้อเรียบ เช่น หลอดเลือดและสำไส้ โดยในช่วงนี้ตาจะกลอกไปซ้ายขวาอย่างรวดเร็ว ร่างกายจะได้พักผ่อน แต่สมองจะยังตื่นตัวอยู่ หลังจากนอนช่วงนี้เมื่อทดสอบคลื่นสมองจะเหมือนคนตื่น  เมื่อคนตื่นช่วงนี้จะจำความฝันได้

ช่วงเวลาหลับฝันนี้จะกินเวลาประมาณ 30 นาที หลังจากผ่านช่วงหลับฝันไปแล้ว ก็จะกลับเริ่มที่ระยะที่ 1 ของ NON-REM ใหม่ หมุนเวียนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ โดยแต่ละรอบจะใช้เวลาประมาณ 80-120 นาที คืนหนึ่งที่เรานอนจะหมุนผ่านวงจรแบบนี้ไปหลายรอบ ขึ้นกับระยะเวลาการนอน

ความต้องการการนอนไม่เท่ากันในแต่ละคนขึ้นกับอายุ ทารกต้องการนอนวันละ 16 ชั่วโมง วัยรุ่นต้องการวันละ 9 ชั่วโมง ผู้ใหญ่ต้องการวันละ 7-8 ชั่วโมง แต่คนบางคนก็อาจจะต้องการนอนน้อยเหลือเพียงวันละ 5 ชั่วโมง หากนอนไม่พอร่างกายต้องการการนอนเพิ่มในวันรุ่งขึ้น

เราจะใช้เวลานอนร้อยละ 50ใน ระยะที่ 2  ร้อยละ 20 ในระยะหลับฝัน REM  ร้อยละ30 ในระยะอื่นๆ





การซ่อมแซมร่างกายระหว่างการนอน

จะเกิดขึ้นในช่วงการหลับลึก(ระยะที่4) เป็นช่วงที่ร่างกายเริ่มหลับสนิท การเคลื่อนไหวจะน้อยลงแล้วจะค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่ REM Sleep ซึ่งจะเป็นช่วงที่ร่างกายทำการฟื้นฟู ซ่อมแซมอวัยวะต่างๆ และปรับสมดุลผิวให้สวยสมบูรณ์แบบ เพราะประโยชน์สูงสุดที่เกิดกับผิวพรรณคือ ในช่วงเวลานี้ร่างกายจะมีการเคลื่อนไหวน้อยมาก ทำให้ส่วนต่างๆ ของร่างกาย กล้ามเนื้อ และผิวสามารถผ่อนคลายได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งเป็นช่วงเวลาที่ผิวพรรณจะได้รับการบำรุง ดูแลตามกระบวนการธรรมชาติ เนื่องจากในช่วง REM Sleep เป็นช่วงเวลาที่มีการบำรุงสมอง โดยสมองจะทำงานเก็บกักความทรงจำได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งคืนความสดชื่นแจ่มใสให้แก่ร่างกาย ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้ร่างกายเพื่อรับมือกับวันใหม่



การอดนอน ไม่เพียงแต่ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า แต่ยังส่งผลให้ร่างกายเสื่อมสภาพ แก่กว่าวัยอันควร เพราะเมื่อร่างกายเข้าสู่ช่วงที่คุณหลับลึก ร่างกายจะหลั่งโกรทฮอร์โมน เพื่อฟื้นฟูและคงความสมดุลให้ร่างกาย หากร่างกายพักผ่อนน้อย โกรทฮอร์โมนก็จะหลั่งน้อย ร่างกายก็จะเสื่อมสภาพและไม่แข็งแรง โดยเฉพาะผู้หญิงที่มักจะมีปัญหาการนอนไม่หลับมากกว่าผู้ชาย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีความผิดปกติของร่างกายและจิตใจ เช่น อาการหวาดระแวง เกรี้ยวกราด โรคซึมเศร้า





อาการนอนไม่หลับไม่ใช่โรคแต่เป็นภาวะหลับไม่พอทำให้ตื่นขึ้นมาแล้วไม่สดชื่น บางคนอาจจะหลับยากใช้เวลามากว่า 30นาทียังไม่หลับ บางคนตื่นบ่อยหลังจากตื่นแล้วหลับยาก บางคนตื่นเช้าเกินไป ทำให้ตื่นแล้วไม่สดชื่น ง่วงเมื่อเวลาทำงาน อาการนอนไม่หลับมักจะเป็นชั่วคราวเมื่อภาวะกระตุ้นหายก็จะกลับเป็นปกติแต่ถ้าหากมีอาการเกิน 1 เดือนให้ถือว่าเป็นอาการเรื้อรัง

Share this

Related Posts

Previous
Next Post »